จากการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ซึ่งมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ โดยในที่ประชุมได้เห็นชอบการเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition for Nature and People (HAC) ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศในการแสดงเจตนารมย์เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายระดับโลกของร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 (First Draft of Post-2020 Global Biodiversity Framework) ที่คาดว่าจะได้รับการรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 (COP 15 Part 2) ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 7 – 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565
กลุ่ม High Ambition Coalition for Nature and People (HAC) เป็นกลุ่มเครือข่ายระหว่างประเทศ โดยมีสมาชิกมากกว่า 100 ประเทศ จัดตั้งขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 นำโดยประเทศคอสตาริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยมีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนนโยบายในการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและปกป้องระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ นอกจากนี้กลุ่ม HAC ยังให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆ เช่น การส่งเสริมให้เกิดการจัดการพื้นที่คุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมนโยบายการสนับสนุนด้านการเงินทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนให้มีการจัดการในระยะยาวและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และการสร้างกลไกการดำเนินงานที่สนับสนุนให้สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูภายในปี ค.ศ. 2030 เป็นต้น กลุ่ม HAC ยังได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการปกป้องสิทธิ์และส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี
กลุ่ม HAC มีบทบาทสำคัญในการเจรจาและเคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองในการประชุมสำคัญในระดับนานาชาติ เช่น Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice (SBSTTA), Open-ended Working Group on the Post – 2020 Global Biodiversity Framework, Convention on Biological Diversity, General Assembly of the United Nations, Intergovernmental Conference on Marine Biodiversity of Areas Beyond National Jurisdiction (BBNJ), G20 Summit เป็นต้น
การเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition for Nature and People (HAC) ของประเทศไทย นับเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศในการแสดงบทบาทและเจตนารมย์ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบนเวทีโลก และเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้ร่วมดำเนินการตามเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ทั่วโลก โดยหลังจากการประชุม COP ครั้งที่ 15 คาดว่าจะมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
แหล่งข้อมูล
HAC’s Website: https://www.hacfornatureandpeople.org/home
Facebook สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Facebook Top Varawut – ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา