Pacific Environment, Pew Charitable Trusts, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ได้จัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง แนวโน้มล่าสุดและโอกาสในการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและพื้นที่ที่มีมาตรการอนุรักษ์อื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ในอาเซียนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกว่าด้วยการคุ้มครองพื้นที่มหาสมุทรให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 9.00 – 10.30 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมประมาณ 85 คน การสัมมนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและพื้นที่ที่มีมาตรการอนุรักษ์อื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ (OECMs) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาระสำคัญจากการสัมมนามีดังนี้
Mr. Jim Gamble ผู้อำนวยการโครงการอาร์คติกและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ขององค์กรเอกชน Pacific Environment ได้กล่าวต้อนรับ แนะนำวิทยากร และเป็นผู้ดำเนินรายการในการสัมมนาครั้งนี้ Pacific Environment เป็นองค์กรเอกชนในระดับนานาชาติที่ทำงานและให้การสนับสนุนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหามลพิษในมิติต่าง ๆ และในหลายประเทศ มีสำนักงานที่ตั้งในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา Mr. Jim Gamble ได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 และจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องและคุ้มครองระบบนิเวศและพื้นที่ที่มีความสำคัญ Pacific Environment ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานในหลายประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองดังกล่าว
Ms. Masha Kalinina จาก Pew Charitable Trusts กล่าวถึงความก้าวหน้าของการจัดทำกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Global Biodiversity Framework) ซึ่งได้รับการพัฒนาผ่านการจัดการประชุม Open-Ended Working Group on the Post-2020 Global Biodiversity Framework (OEWG) ครั้งล่าสุดเป็นการประชุมครั้งที่ 4 จัดขึ้น ณ เมืองไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 21 – 26 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้จะถูกนำไปเจรจาต่อในการประชุม OEWG ครั้งที่ 5 และต่อด้วยการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP-15) ช่วงที่ 2 ณ เมืองมอนทรีออล ระหว่างวันที่ 3 – 19 ธันวาคม ที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุม Meeting of the Informal Group on the Post-2020 Global Biodiversity Framework ณ เมืองมอนทรีออล ระหว่างวันที่ วันที่ 26 – 30 กันยายน พ.ศ. 2565 โดยเชิญตัวแทนของประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันปรับปรุงร่างกรอบงานจากการประชุม OEWG ครั้งที่ 4 โดยพิจารณาตัดข้อความที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อนออก เช่น ควรย้ายคำว่า “การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” (sustainable use) จากเป้าหมายที่ 3 ไปไว้ในเป้าหมายอื่นๆ เช่น เป้าหมายที่ 1 หรือ 9 ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการวางแผน กลไกการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วม และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนโดยตรง
เป้าหมายที่ 3 ของร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก เป็นเรื่องของการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งทางบกและทางทะเลของโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยตัวเลขร้อยละ 30 เป็นตัวเลขที่กำหนดขึ้นโดยมีข้อมูลที่วิทยาศาสตร์สนับสนุน และเป้าหมายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีความสำคัญในเชิงนิเวศวิทยาในประเทศต่าง ๆ รวมถึงในบริเวณทะเลหลวงอีกด้วย นอกจากนี้เราควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอย่างประสิทธิภาพด้วย เนื่องจากหากขาดการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองที่มีประสิทธิภาพแล้ว การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
Ms. Masha Kalinina ยังได้เน้นว่าผลการศึกษาหลายฉบับชี้ให้เห็นว่าพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่เป็นพื้นที่ห้ามจับสัตว์น้ำ (no-take areas) ทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงนิเวศวิทยาปริมาณมวลชีวภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหนาแน่นของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น และสัตว์น้ำมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญต่อการประมงและวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่ง แต่อย่างไรก็ตาม ประโยชน์เหล่านี้อาจลดลงหากพื้นที่คุ้มครองทางทะเลมีระดับความเข้มข้นของการคุ้มครองหละหลวม หรือการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ
Mr. Hoang Dinh Chieu จาก Research Institute for Marine Fisheries (RIMF) เวียดนาม ให้ข้อมูลพื้นฐานแนวคิดและโอกาสในการจัดตั้งพื้นที่ Other Effective Area-based Conservation Measures (OECMs) ในประเทศเวียดนาม
ในการประชุม COP ครั้งที่ 14 ได้มีการกำหนดความหมายของพื้นที่ OECMs “พื้นที่ที่มีการกำหนดขอบเขตทางภูมิศาสตร์นอกเหนือจากพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งมีการอภิบาลและจัดการเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์เชิงบวกในระยะยาวและยั่งยืน จากการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ตามธรรมชาติ รวมถึงฟังก์ชั่นและบริการของระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงการอนุรักษ์ค่านิยมในเชิงวัฒนธรรม จิตวิญญาณ สังคมและเศรษฐกิจ และค่านิยมท้องถิ่นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” พื้นที่ OECMs ไม่ถูกจัดว่าเป็นพื้นที่คุ้มครองเพราะพื้นที่ดังกล่าวนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอนุรักษ์ แต่เนื่องจากพื้นที่ OECMs สามารถให้ประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้ ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาแนวทางในการประกาศพื้นที่ OECMs เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และในปี ค.ศ. 2018 CBD ได้มีมติให้นับพื้น OECMs เป็นพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกับพื้นที่คุ้มครอง ในปัจจุบัน IUCN ได้จัดทำแนวทางและเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่และส่งเสริมให้มีการดำเนินจัดตั้งพื้นที่ OECMs ในหลายประเทศ
ในเวียดนาม มีการประยุกต์ใช้วิธีการอนุรักษ์ความหลากหายทางชีวภาพทางทะเลหลายรูปแบบ เช่น การจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (MPAs) พื้นทะเลที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและชีววิทยา (Ecologically or Biologically Significant Marine Areas, EBSAs) พื้นที่ทางทะเลที่มีความอ่อนไหว (Particularly Sensitive Areas) พื้นที่มรดกโลก (World Heritage Sites) พื้นที่หลบภัยสัตว์น้ำ (Fisheries Refugia) และ พื้นที่ OECMs ปัจจุบันเวียดนามประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแล้วจำนวน 10 แห่ง และกำลังรอประกาศในอนาคตอีก 6 แห่ง แต่กระบวนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงยังไม่เคยมีการประเมินประสิทธิภาพในการพื้นที่คุ้มครองในเวียดนามเลย
รัฐบาลของเวียดนามตั้งเป้าหมายว่าพื้นที่ทางทะเลร้อยละ 6 ได้รับการคุ้มครองภายในปี ค.ศ. 2030 ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะใช้หลักการประกาศพื้นที่ OECMs เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยอาจประกาศพื้นที่ที่มีระบบนิเวศเปราะบางและพื้นที่รอบ MPAs ให้เป็นพื้นที่ OECMs และหลักการในการประกาศพื้นที่ OECMs ยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เช่น ชุมชนท้องถิ่น องค์กรเอกชน รวมถึงภาคเอกชน การประกาศอาจใช้กฎหมายที่มีอยู่เช่น กฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ กฎหมายประมง กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนงานระดับชาติที่เกี่ยวข้อง
ในปัจจุบันเวียดนามกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพื้นที่ OECMs รวมถึงการประเมินพื้นที่เบื้องต้น โดยแบ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่ OECMs สามกลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มพื้นที่อนุรักษ์หลัก 2) กลุ่มพื้นที่อนุรักษ์รอง และ 3) กลุ่มพื้นที่อนุรักษ์เสริม โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะมีศักยภาพในการประกาศเป็นพื้นที่ OECMs มี ดังนี้ ระบบนิเวศที่มีความเปราะบาง พื้นที่จำกัดการทำประมง (fisheries restricted areas) พื้นที่ห้ามทำประมง (fisheries closure) น่านน้ำประวัติศาสตร์ (historical water) พื้นที่ทะเลที่ได้รับการจัดการโดยชุมชน (locally managed marine areas) เขตทหาร (military areas) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พื้นที่หลบภัยสัตว์น้ำ (fisheries refugia) เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการกำหนดพื้นที่ OECMs ในเวียดนามยังมีความท้าทายและความต้องการในหลายประเด็น เช่น ต้องมีการจัดทำรายละเอียดแนวทางการกำหนดพื้นที่ OECMs การศึกษาข้อจำกัดและการใช้กฎหมายในการสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่ OECMs ที่ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่น NGOs และ ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม การสร้างกลไกการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ และงบประมาณในการดำเนินการ
Mr. Jason Dozier จาก Sustainable Conservation ประเทศฝรั่งเศส ได้แนะนำองค์กรพันธมิตร High Ambition Coalition for Nature and People (HAC) การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศต่างๆ และการบรรลุเป้าหมายระดับโลกเรื่องการเพิ่มพื้นที่คุ้มครอง 30×30 ได้อย่างไร กลุ่ม High Ambition Coalition for Nature and People (HAC) เป็นกลุ่มเครือข่ายระหว่างประเทศ โดยมีสมาชิกมากกว่า 100 ประเทศ นำโดยประเทศคอสตาริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยมีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนนโยบายในการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและปกป้องระบบนิเวศที่มีความสำคัญ ส่งเสริมให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุขระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ
กลุ่ม HAC มีบทบาทในการเจรจาและสนับสนุนเป้าหมายที่ 3 ของร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Global Biodiversity Framework) ในการประชุม OEWG การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 รวมถึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมส่งต่อไปยังการประชุมในระดับอื่น ๆ รวมถึงการสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองเพื่อให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้เห็นถึงความสำคัญและกระตุ้นให้เกิดการผลักดันในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มพื้นที่คุ้มครอง
นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา 2 คณะ ได้แก่ The 30 by 30 Taskforce จะช่วยสรุปและจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานแก่ประเทศสมาชิกในระหว่างการเจรจาและ IPLC Taskforce จะทำงานและส่งเสริมในประเด็นสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ 3 รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการปกป้องสิทธิ์และส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มในอนาคต
ปัจจุบันกลุ่ม HAC กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มและกลไกการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของประเทศสมาชิกเพื่อเพิ่มพื้นที่คุ้มครองตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ หรือที่เรียกว่า HAC 2.0 ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาศักยภาพ (capacity building) การแสวงหาแหล่งงบประมาณดำเนินงาน และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิกที่ยังขาดทรัพยากรและศักยภาพในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030
โครงสร้างการอภิบาล (governance) ของกลุ่ม HAC จะประกอบด้วย ประธานร่วมสองคน ซึ่งได้รับคัดเลือกจาก คณะกรรมการบริหาร (International Steering Committee) โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 14 คน ประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา กลุ่มละ 7 คน และจะมีการจัดตั้งฝ่ายเลขานุการ (secretariate) เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม HAC การเข้าร่วมเป็นสมาชิกและการดำเนินกิจกรรมภายใต้เครือข่าย HAC เป็นไปด้วยความสมัครใจและไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมาย แต่กลุ่ม HAC คาดหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกเพื่อร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการรับรองเป้าหมายที่ 3 ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ และสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จในอนาคต
Mr. Mark Opel จาก Campaign for Nature ได้กล่าวถึงการระดมทรัพยากร (resource mobilization) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบงานกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Global Biodiversity Framework) และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล และ OECMs โดยการระดมทรัพยากรเป็นสิ่งสำคัญต่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การขาดงบประมาณเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Aichi ได้ ดังนั้นในการประชุมหลายครั้งได้มีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยอย่างกว้างขวาง จากการประเมินของ Deutz et al. (2020) พบว่างบประมาณทั้งโลกที่ต้องใช้สำหรับอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพสูงถึง 800 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีการจัดสรรงบประมาณเพียง 100 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเห็นว่ายังขาดงบประมาณถึง 700 พันล้านเหรียญสหรัฐ
มีการประเมินว่างบประมาณที่ต้องใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามร่างกรอบงานกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเท่ากับ 700 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยเป้าหมายที่ 18 จะใช้งบประมาณประมาณ 500 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในการชดเชยเพื่อลดกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (harmful subsidies) และเป้าหมายที่ 19 กล่าวถึงการระดมทุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ให้ได้ไม่น้อยกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่ก็ยังมีความกังวลว่าตัวเลขดังกล่าวเพียงพอหรือไม่
การสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Official Development Assistance : ODA) เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังหรือด้อยพัฒนา ODA จะช่วยเพิ่มศักยภาพและสนับสนุนประเทศด้อยหรือกำลังพัฒนาในด้านต่างๆ อีกด้วย ในร่างกรอบงานกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกได้ตั้งเป้าหมายการเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือให้แก่ประเทศดังกล่าวเป็นเงิน 10 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในขณะที่องค์กรเอกชนเรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณดังกล่าวเป็นเงิน 60 – 100 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และควรจัดสรรให้ชุมชนท้องถิ่นโดยตรง ในขณะที่ปัจจุบันระดับการใช้งบประมาณ ODA มีเพียง 4 – 9 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเท่านั้น
ปัจจุบันมีองค์กรหลายภาคส่วนที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนด้านการเงินประมาณ 32 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนของรัฐบาลประเทศต่างๆ (5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) กลุ่มผู้มั้งคั่งและองค์กรการกุศล (0.7 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) ภาคธุรกิจและนักลงทุน (0.2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) เงินสนับสนุนนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตเนื่องจากการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนจากประเทศสำคัญต่างๆ ได้แก่ แคนาดา สหภาพยุโรป เยอรมัน สหราชอาณาจักร เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้ประกาศการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
การประชุมที่ผ่านมามีการปรึกษาหารือเรื่องกลไกด้านการเงินเพื่อบริหารจัดการงบประมาณดังกล่าว ว่าควรจะสร้างกลไกด้านการเงินใหม่โดยอยู่ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Fund, GEF) หรือไม่ เพื่อให้ประเทศด้อยและกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงงบประมาณดังกล่าวได้ หรือจะจัดตั้งเป็นกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพโลก (Global Biodiversity Fund) ที่มีกลไกคล้ายกับกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) เพื่อบริหารจัดการงบประมาณสนับสนุนในระยะยาว แต่ในช่วงระยะอันไกล้นี้อาจสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือผ่านกลไกความร่วมมือแบบทวิภาคี (Bilateral mechanism) ได้ นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งกลุ่มคณะทำงานเช่น HAC 2.0 และ NBSAP Accelerator Initiatives ที่จะช่วยประสานงานให้ประเทศต่างๆ หรือชุมชนต่างๆ เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้งานขึ้น
ในกรณีของเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 นั้น อาจต้องใช้งบประมาณถึง 100 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มและบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองเพียง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเท่านั้น และงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้สูง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมากลุ่มองค์กรการกุศลได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั่วโลกเป็นเงิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในอนาคตมีกลุ่มองค์กรหลายกลุ่มที่สัญญาว่าจะให้งบประมาณสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่คุ้มครอง เช่น กลุ่ม Global Forest Finance Pledge จะสนับสนุนเงินประมาณ 19.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ กองทุน Legacy Landscapes Fund ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจและองค์การกุศลต่างๆ จะให้งบประมาณแก้ประเทศที่กำลังพัฒนาในการเพิ่มและอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองเป็นเงิน 211 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
Mr. Mark Opel ได้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาวิจัยต่างได้ชี้ให้เห็นว่างบประมาณที่ใช้ในการคุ้มครอง/อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่คุ้มครองนั้นไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปเพียงอย่างเดียว แต่หากเป็นเสมือนการลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคต มีการประมาณการณ์ว่าผลิตภัณฑ์และบริการที่เราได้จากระบบนิเวศ (ecosystem services) มีมูลค่าสูงถึง 125 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และในขณะเดียวกันการทำลายธรรมชาติในปัจจุบันทำให้เกิดการสูญเสียซึ่งคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีหรือคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP ทั้งโลก จะเห็นได้ว่าการคุ้มครอง/อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่คุ้มครองจะให้ประโยชน์ทั้งที่เป็นตัวเงินและประโยชน์อื่นๆ ที่คิดมูลค่าเป็นเงินไม่ได้
การระดมทรัพยากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของร่างกรอบงานกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กรองานดังกล่าว ประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศมั่งคั่งควรให้คำมั่นสัญญาและสร้างความมั่นใจว่าจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อคุ้มครอง/อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคตต่อไป
อ่านรายงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่
First draft of the post-2020 global biodiversity framework: https://www.cbd.int/doc/c/abb5/591f/2e46096d3f0330b08ce87a45/wg2020-03-03-en.pdf
การประชุม OEWG ครั้งที่ 4: https://www.cbd.int/meetings/WG2020-04
Meeting of the Informal Group on the Post-2020 Global Biodiversity Framework : https://www.cbd.int/meetings/POST2020-OM-2022-01
IUCN OECM Guidelines: https://portals.iucn.org/library/node/48773
FINANCING NATURE: Closing the Global Biodiversity Financing Gap: http://dx.doi.org/10.13140/RG.2.2.26226.32968
International trade drives biodiversity threats in developing nations: https://www.nature.com/articles/nature11145
Protecting 30% of the planet for nature: costs, benefits and economic implications: https://www.campaignfornature.org/protecting-30-of-the-planet-for-nature-economic-analysis
The costs of global protected-area expansion (Target 3 of the post-2020 Global Biodiversity Framework) may fall more heavily on lower-income countries: https://doi.org/10.1101/2022.03.23.485429