องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD Secretariate) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะที่ปรึกษา ได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ EBSAs และ OECMs ระหว่างวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยและเผยแพร่ความรู้ที่สำคัญรวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงนิเวศวิทยาและชีววิทยา (Ecologically and Biologically Significant Marine Area: EBSAs) พื้นที่อื่นๆ ที่มีมาตรการการอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพ (Other Effective Conservation Measures: OECMs) และการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล (marine spatial planning: MSP) แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลและชายฝั่งและการจัดการที่ยั่งยืน
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) Mr. Reinhold Elges ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และ Mr. Joseph Appiott ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมพิธีเปิดการประชุม มีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศและต่างประเทศทำหน้าที่เป็นวิทยากรและอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคส่วนต่าง ๆ มากกว่า 50 ท่าน
การประชุมวันแรก มีการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย คุณพัชรพร นำตระกูลพัฒนา กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้นำเสนอสถานการณ์ด้านความหลากหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย สาระสำคัญของแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 – 2565 และทิศทางการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในระยะต่อไปที่จะเน้นการคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยและลดภัยคุกคาม การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการพัฒนาเครื่องมือและกลไกการบริหารจัดการ คุณอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำเสนอสาระสำคัญของสาระสำคัญของรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2564 และ อ. ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้อธิบายถึงปัจจัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศทางทะเล และความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศภายใต้กรอบ DPSIR รวมถึงช่องว่างของข้อมูลในระบบนิเวศหาดหิน หาดโคลน และหาดทราย
Prof. Dr. David Johnson จาก Global Ocean Biodiversity Initiative ได้นำเสนอแนวคิดพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงนิเวศวิทยาและชีววิทยา (Ecologically and Biologically Significant Marine Area: EBSA) เกณฑ์และกระบวนการกำหนดพื้นที่ EBSAs ได้จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในระดับภูมิภาคซึ่งเป็นการร่วมกันสังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการ ทำให้ทราบถึงข้อมูลที่มีและช่องว่างของข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการตัดสินใจรวมถึงการจัดเตรียมข้อมูลและแผนที่ในการเสนอให้เป็นพื้นที่ EBSAs ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ 4 แห่งที่ถูกเสนอให้เป็นพื้นที่ EBSAs ได้แก่ พื้นที่อ่าวไทยตอนบน บริเวณ Shelf Break Front ทะเลจังหวัดตรัง และพื้นที่ทะเลอันดามันตอนล่าง Prof. Dr. David Johnson ได้เน้นให้เห็นความสำคัญของ EBSAs ที่สามารถนำมาใช้เป็นตัวประสานระหว่างการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ
Dr. Piers Dunstan จาก CSIRO Oceans and Atmosphere ได้นำเสนอภาพรวมของเครื่องมือที่เกี่ยวข้องสำหรับการประยุกต์ใช้ในการจัดการพื้นที่ EBSA ทั้งในรูปแบบเชิงพื้นที่ (area-based) และรูปแบบอื่น ๆ (non-area based) และได้นำเสนอกรณีศึกษาการบริหารจัดการพื้นที่ EBSAs ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งให้ความสำคัญต่อพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ (Key Ecological Features, KEF) และ พื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงชีวภาพ (Biologically Important Areas, BIA) โดยพื้นที่เหล่านี้มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น (migratory species) ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเพื่อประเมินพื้นที่ KEF และ BIA ยังมีประโยชน์ในการสนับสนุนการกำหนดของเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังได้อธิบายการประยุกต์ใช้โมเดลอย่างง่ายเพื่อประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการออกแบบการศึกษาวิจัยและติดตามตรวจสอบในอนาคตอีกด้วย
นางสาวชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้อธิบายความสำคัญของชนิดพันธุ์อพยพย้ายถิ่นในระบบนิเวศ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษา นกอพยพ พะยูน วาฬ โลมา เต่าทะเล ปลากระดูกอ่อน เส้นทางการอพยพของสัตว์ดังกล่าว รูปแบบการจัดการเชิงพื้นที่: อ่าวไทยตอนบน ทะเลสาบสงขลา ชายฝั่งทะเลจังหวัดตรัง กฎหมายและการบริหารจัดการที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเสริมสร้างความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ผ่านการสร้างเครือข่ายรายงานการเกยตื้น รวมถึงการศึกษาวิจัยและความร่วมมือในระดับนานาขาติ นอกจากนี้ Dr. Daniel Dunn จาก University of Queensland ได้ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ และได้แนะนำระบบ MiCO (Migratory Connectivity in the Ocean System) ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์อพยพย้ายถิ่น โดยปัจจุบันระบบดังกล่าวได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลายภูมิภาค รวมถึงการเก็บข้อมูลการอพยพย้ายถิ่นของเต่าทะเลและพะยูนในประเทศไทยอีกด้วย
Prof. Dr. David Johnson จาก Global Ocean Biodiversity Initiative และ ดร. เบญจมาภรณ์ วัฒนธงชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญาฯ กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอรายละเอียดร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 โดยกรอบงานดังกล่าวคาดหวังว่าภายในปี ค.ศ. 2050 มนุษย์และธรรมชาติจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน และมีกิจกรรมเป้าหมายอย่างน้อย 20 เป้าหมายที่จะต้องบรรลุภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อให้ธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยประเทศไทยจะให้การสนับสนุนร่างกรอบงานดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองพื้นที่ทางบกและทางทะเลของโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่โลกภายในปี ค.ศ. 2030 ส่งเสริมการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานตามแนวทางของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 นอกจากนี้คณะผู้แทนไทยจะให้การรับรองร่างกรอบงานดังกล่าวในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 ที่จะถึงนี้
ในประเด็นเรื่อง OECMs และเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล คุณอุกกฤต สตภูมินทร ์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สถานะและทิศทางการดำเนินงานของประเทศไทยเกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล แผนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของหน่วยงานต่าง ๆ ข้อจำกัดของการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในลักษณะที่เป็นรูปแบบเดิม (Conventional MPAs) เช่น กระบวนการประกาศมีความซับซ้อนและใช้เวลานาน รวมถึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ดังนั้นจึงควรมุ่งเน้นที่มาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอื่น ๆ (OECMs) ซึ่งจะมีรูปแบบที่หลากหลาย ยืดหยุ่น/อ่อนตัวกว่า นอกเหนือจากการประกาศกําหนดพื้นที่คุ้มครองแบบปกติ นอกจากนี้ยังได้อธิบายหลักการของพื้นที่ OECMs และพื้นที่ในประเทศไทยที่อาจเข้าเกณฑ์ OECMs นายวิรัตน ศิริมัจโร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเล จังหวัดสมุทรปราการ ได้ให้ข้อมูลกฎระเบียบ หน่วยงาน มาตรการอนุรักษ์ เขตการประมงตามกฎหมายของประเททศไทย รวมถึงความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้หลักเกณฑ์และการดำเนินการกำหนดพื้นที่ OECMs ในมิติของการประมงในประเทศไทย
ในวันที่สองของการประชุม Prof. Dr. David E Johnson ได้นำเสนอในหัวข้อประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning) ซึ่งได้พูดถึงเกณฑ์ในการกำหนดพื้นที่ของ EBSA เช่น การกำหนดพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ อำนาจในการดูแลจัดการพื้นที่ และการปรับปรุงแผนการจัดการให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอถึงการนำข้อจำกัดของการนำข้อมูลและแผนงาน EBSA ประยุกต์ใช้ในงานระดับชาติ เช่น ต้องมีการทำ EIA ในพื้นที่ก่อน, ความจำเป็นในการสร้างเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเล, ความต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมในพื้นที่, การติดตามควบคุมในพื้นที่, ข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการของพื้นที่ Dr. David ยังได้นำเสนอถึงเครื่องมืออื่นที่สามารถใช้ร่วมกับแผนงาน EBSA เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์, การประเมินความยั่งยืนของระบบนิเวศ, รายงานสถานะของสิ่งแวดล้อม และแนวทางของระบบนิเวศเพื่อการทำประมง ในส่วนของการใช้การจัดการเชิงพื้นที่ทางทะเล หรือ MSP นั้นจะเป็นการบูรณการความร่วมมือของในหลายภาคส่วนภายในชาติทั้งรัฐ และเอกชน ซึ่งต้องมีการใช้เครื่องมือทางกฎหมายร่วมด้วยเพื่อสร้างกฎระเบียบร่วมกัน โดยต้องมีการร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแต่ละภาคส่วน และปรับปรุงแผนให้มีความยืดหยุ่นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทั้งนี้แผนการจัดการดังกล่าวต้องมีการปรับปรุงอยู่เสมอเพื่อให้เหมาะสมกับระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
Dr. Piers Dunstan ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือการจัดการที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้กับพื้นที่ EBSA มีการกล่าวถึงเครื่องมือและกระบวนการที่เป็นไปได้สำหรับพื้นที่ EBSA โดยนำเสนอผ่านกรณีตัวอย่างอุทยานทางทะเลของออสเตรเลีย ที่มีการใช้กระบวนการ AMPs ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายในกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณ ซึ่งอาศัยกรอบงาน MERI ที่ต้องมีการประเมินผล รายงาน และการปรังปรุงให้เหมาะสมของพื้นที่ในเขตอุทยาน นอกจากนี้ก็ได้มีการนำเสนอถึงการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศที่มีความสำคัญ และยังได้พูดถึงการเกณฑ์ในการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละพื้นที่เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนและดำเนินงาน ซึ่งในกรณีศึกษาจากประเทศออสเตรเลียนั้น มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น การใช้ระบบ CO-design เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยอาศัยความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ และยังกล่าวถึงข้อผิดพลาดของประเทศออสเตรเลียที่ได้วางแผนงานใหญ่เกินไปยากต่อการทำงานอีกด้วย
คุณประภาพร ไหวพริบ กองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำเสนอในหัวข้อการมีส่วนร่วมของชุมชนชายฝั่งและกรณีศึกษา โดยมีกรอบงานปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งได้มีการพูดถึงประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เช่น การขึ้นทะเบียนชุมชนชายฝั่ง การขึ้นทะเบียนอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล รวมไปถึงโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มต่างๆ และแผนในการเพิ่มความร่วมมือในอนาคต นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ที่นำมาจัดกิจกรรม
ในการประชุมภาคบ่าย มีการนำเสนอในหัวข้อ ความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับสถานภาพของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ของระบบนิเวศหญ้าทะเล โดย รศ. ดร. อัญชนา ประเทพ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเสนอถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศหญ้าทะเล การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ส่งผลต่อการบริการของระบบนิเวศ (Ecosystem service) นอกจากนี้ยังได้นำเสนอในเรื่องของการตอบสนองและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของหญ้าทะเลอีกด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสถานะและความสำคัญของระบบนิเวศหญ้าทะเล ที่ต้องมีการสำรวจและประเมินต่างๆ โดย ปัจจุบันมีการสำรวจแหล่งหญ้าทะเลไปแล้วกว่า 82 จุดทั่วประเทศ เพื่อศึกษาความเปราะบางและการให้บริการของระบบนิเวศหญ้าทะเล
ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ จากมูลนิธิโลกสีเขียว ได้นำเสนอหัวข้อ การเปลี่ยนแปลง Biodiversity baseline และผลกระทบต่อทรัพยากรของประเทศ ซึ่งได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและผลกระทบ เช่น ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และผลกระทบจากปัญหาขยะและมลพิษในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ยังได้นำเสนอแนวคิด One Health Concept และแนวปฏิบัติที่ดี(Best practice) ที่ใช้เพื่อลดผลกระทบ และชะลอการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
คุณรัฏดา ลาภหนุน ตัวแทนจากสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะเต่า ได้กล่าวถึงบทบาทของเอกชนในโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศเกาะเต่า โดยได้นำเสนอแผนอนุรักษ์ทั้งบนบกและในทะเลของเกาะเต่า ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีการให้ความร่วมมือจากภาคประชาสังคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable tourism) ของพื้นที่
Prof. Dr. David E Johnson ได้นำเสนออีกครั้งในหัวข้อ วิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) ที่ได้มีการยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากงานด้านวิทยาศาสตร์พลเมือง และกล่าวถึงการอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความรู้ด้านสมุทรศาสตร์และสร้างความตระหนักถึงภัยที่จะเกิดขึ้นของระบบนิเวศ เช่น การรับสมัครอาสาสมัครเพื่อช่วยในการเก็บข้อมูล และการรับสมัครอาสาสมัครเพื่อช่วยในการเก็บข้อมูล โดยอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ สมาร์ทโฟน แอพพลิเคชั่น เอกสารภาพถ่าย อากาศยานไร้คนขับ (Drones) หรือความร่วมมือจากเรือในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับของวิทยาศาสตร์พลเมืองที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างความสนใจและความตระหนักรู้ต่อภาคประชาชน โดยมีเคล็ดลับคือการทำให้วิธีการมีความน่าสนใจและเข้าถึงได้ง่าย
ในการประชุมครั้งนี้ยังได้เชิญตัวแทนจากภาคพลเมืองเพื่อนำเสนอถึง การวิจัย การติดตาม และการสร้างจิตำนึก ของวิทยาศาสตร์พลเมือง ได้แก่
คุณพิพัฒน์ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้แทนจาก Save Our Sea (SOS) ได้นำเสนอกิจกรรมของเครือข่าย Save Our Sea (SOS) ที่เป็นเครือข่ายนักดำน้ำจิตอาสา มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีแรงบันดาลใจในการก่อตั้งกลุ่มจากที่ไปดำน้ำแล้วพบขยะในระบบนิเวศโดยมีการให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแก่กลุ่มนักดำน้ำที่เข้าร่วมกิจกรรม เช่น กิจกรรมเก็บกู้เศษซากวัสดุจากการทำประมง การเก็บขยะในทะเลโดยนำไปแยกประเภท และจัดการให้เหมาะสม โดยกิจกรรมต่างๆ ของทางกลุ่มนั้นได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสถาบันการศึกษาต่างๆ
คุณวัชรินทร์ แสวงการ ประธานท้องตมใหญ่โฮมสเตย์ จังหวัดชุมพร นำเสนอการจัดทำแหล่งเรียนรู้ใต้ทะเลในรูปแบบอุทยานใต้ทะเล เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ของนักท่องเที่ยว โดยมีการจัดตั้งกลุ่มของชุมชน โดยใช้วิธีการประชาพิจารณ์ในการสร้างกฎระเบียบของชุมชนเพื่อดูแลรักษาทรัพยากร และชุมชนยังได้มีการสร้างแนวทางการท่องเที่ยวโดยเน้นการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ เช่น กิจกรรม “หนึ่งเดียวในสยาม” ที่สามารถเพาะพันธุ์ม้าน้ำในพื้นที่ นอกจากนี้คุณวัชรินทร์ ยังได้พูดถึงแรงกดดันและปัญหาที่พบในการดำเนินงานอีกด้วย
ตัวแทนจากมูลนิธิ Beach for life ได้นำเสนอในหัวข้อการมีส่วนร่วมของประชาชนและวิทยาศาสตร์พลเมือง กรณี: การจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งมูลนิธิได้มีเครือข่ายติดตามสภาพชายหาดในประเทศไทย จาก 5 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี และสตูล โดยมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชายหาดของทุกเดือนจากกลุ่มอาสาสมัครที่มาจากประชาชนในพื้นที่ และยังมีการพัฒนาแอพลิเคชั่นและเว็บบราวเซอร์ในการเก็บข้อมูลร่วมกับ Thai PBS นอกจากนี้ยังได้ให้ภาคประชานมีส่วนร่วมในการออกแบบ Beach Zoning เพื่อแก้ปัญหาข้อคัดแย้งในบริเวณหาดสมิหลา-ชลาทัศน์
หลังจากนั้น ดร. ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ ศ. ดร. เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ได้ร่วมกันทำการศักยภาพการจัดการเชิงพื้นที่ของประเทศไทยในอนาคตและกลไกลที่เหมาะสม ในมุมมองทางวิชาการ และการจัดการความรู้ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการเชิงพื้นที่ เนื่องจากปัญหาการใช้ประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยที่ไม่สมดุลและส่งผลต่อความมั่นคงของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยได้นำเสนอถึงทิศทางและแนวคิดที่จำเป็นต่อการจัดการเชิงพื้นที่ของประเทศไทยในอนาคต โดยมีข้อเสนอแนะ 3 ด้าน ได้แก่ การรวบรวมงานวิจัย และข้อมูลทางวิชาการผ่านระบบ Cloud, การบูรณาการข้อมูล หรือองค์ความรู้แบบข้ามศาสตร์ และการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ และจัดการเชิงพื้นที่(MGIP) โดยได้เน้นย้ำถึงกลไกลที่เหมาะสมในการจัดการทางทะเลของประเทศไทย นอกจากนี้ ดร. ปิ่นสักก์ ได้ให้ความสำคัญของการประยุกต์ใช้นโยบายเกี่ยวกับพื้นที่ EBSAs และ OECMs ที่สามารถประยุกต์ใช้กับนโยบายการจัดการเชิงพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย 30X30 ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ(Sustainable Development Goals: SDGs) และยังได้มีการตอบข้อซักถามของการใช้นโยบายการจัดการเชิงพื้นที่ จากผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากหลายภาคส่วน เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจถึงแนวทางและกรอบในการดำเนินงานต่อไป