ในที่สุด กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 (First Draft of Post-2020 Global Biodiversity Framework) ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกได้รับการรับรองจากประเทศภาคีสมาชิกในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 (COP 15 Part 2) ที่จัดขึ้น ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 7 – 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
กว่าสี่ปีที่ได้มีการพูดคุยในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 14 และได้เริ่มพัฒนาร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ผ่านการประชุมและเจรจาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องหลายครั้ง เช่น การประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ (Open-ended Working Group on the Post-2020 Global Biodiversity Framework) จำนวน 4 ครั้ง ซึ่งการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจครั้งแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ เมืองไนโรบี ประเทศเคนยา และครั้งล่าสุดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ร่างกรอบงานดังกล่าวได้ถูกพิจารณาในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 1 (COP 15 Part 1) ที่จัดขึ้นผ่านระบบประชุมออนไลน์ขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ก่อนที่มีการพิจารณาและเพิ่งจะได้รับการรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่สอง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เวลา 3.30 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่นเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกคุณหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal Global biodiversity framework) ยังคงวิสัยทัศน์ “ภายในปี ค.ศ. 2050 ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับรู้ถึงคุณค่า ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และถูกใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพนั้นจะช่วยคงคุณภาพของบริการของระบบนิเวศ (ecosystem services) คงความสมบูรณ์ให้กับโลกใบนี้ และให้ประโยชน์ที่จำเป็นแก่มนุษย์ทุกคน” ประกอบด้วย 4 เป้าหมายหลัก (goal) ได้แก่ ก) การสงวน รักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงการลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ข) การใช้ประโยชน์แนะการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ค) การแบ่งปันผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเฉพาะประโยชน์ต่อชนพื้นเมืองและท้องถิ่น และ ง) มีการสนับสนุนเครื่องมือและแนวทางการดำเนินงานอย่างเพียงพอ เช่น การสนับสนุนด้านการเงิน การพัฒนาศักยภาพ ความร่วมมมือทางวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น
กรอบงานดังกล่าวประกอบด้วย 23 เป้าหมายย่อย (target) ซึ่งเป็นกิจกรรมเร่งด่วนที่จะต้องบรรลุผลให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ครอบคลุม 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ ก) การลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ข) การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและการแบ่งปันผลประโยชน์จากธรรมชาติ และ ค) เครื่องมือและแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงการผลักดันให้เกิดเป็นกระแสหลักในสังคมและนโยบาย (mainstreaming) โดยการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองเป็นเป้าหมายย่อยที่ 3 เพื่อลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
สาระสำคัญของเป้าหมายย่อยที่ 3 คือการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองในพื้นที่บนบก แหล่งน้ำจืด ชายฝั่งและทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีความสำคัญในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ และบทบาทหน้าที่ของระบบนิเวศ (ecosystem functions) และนิเวศบริการ (ecosystem services) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยจะต้องสนับสนุนเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการอนุรักษ์และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านระบบพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้รับการอภิบาลได้อย่างดีและเท่าเทียมกัน และพื้นที่ที่มีมาตรการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพอื่น ๆ (other effective area-based conservation measures, OECMs) และต้องตระหนักถึงอาณาบริเวณของชนพื้นเมืองและดั้งเดิม (indigenous and traditional territories) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศ ทะเล และมหาสมุทร ในขณะเดียวกันก็ต้องให้มั่นใจว่าการใช้ประโยชน์ใด ๆ ในพื้นที่นั้นมีความเหมาะสม ยั่งยืน และสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์ รวมถึงต้องตระหนักและเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นด้วย
กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามของมวลมนุษย์ชาติที่จะช่วยกันลดการสูญเสียและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก การดำเนินงานดังกล่าวจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากระดับนานาชาติ ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างผาสุขต่อไป
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
NON-PAPER ON ITEM 9A. Draft decision submitted by the President. Kunming-Montreal Global biodiversity framework. http://อ่านเพิ่มเติมได้ที่ NON-PAPER ON ITEM 9A. Draft decision submitted by the President. Kunming-Montreal Global biodiversity framework. https://www.cbd.int/doc/c/7a5e/1d9a/f8718d1a5dd9828dba764053/cop-15-item9a-nonpaper-president-en.pdf