คณะผู้แทนไทยเตรียมให้คำมั่นสัญญากับเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งบนบกและในมหาสมุทรอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ในการประชุมครั้งสำคัญ ณ เมืองมอนทรีออล

คณะผู้แทนไทยเตรียมให้คำมั่นสัญญากับเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งบนบกและในมหาสมุทรอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ในการประชุมครั้งสำคัญ ณ เมืองมอนทรีออล

25 พฤศจิกายน 2565 – คณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยคณะผู้แทนของประเทศสมาชิกอื่นๆ เตรียมเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานเพื่อจัดทำกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ครั้งที่ 5 (5th Open-Ended Working Group on the Post-2020 Global Biodiversity Framework) ระหว่างวันที่ 3 – 5 ธันวาคม 2565 ตามด้วย ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 (CBD COP-15) ระหว่างวันที่ 7 – 19 ธันวาคม 2565 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา การประชุมทั้งสองครั้งนี้มีความสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ระดับโลกและเพื่อเร่งประสานความร่วมมือและการดำเนินการในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีบทบาทสำคัญต่อหน้าที่และบริการของระบบนิเวศต่างๆ และยังทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

ร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ฉบับแรกแรกที่เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2564 มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการอยู่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า “ภายในปี ค.ศ. 2050 ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับรู้ถึงคุณค่า ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และถูกใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพนั้นจะช่วยคงคุณภาพของบริการของระบบนิเวศ (ecosystem services) ให้แก่มนุษย์ทุกคน” และมีเป้าหมายที่จะหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากตัวขับเคลื่อนสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ การใช้ประโยชน์ในทะเลและที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป มลพิษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น ร่างกรอบงานดังกล่าวประกอบด้วย 21 เป้าหมายซึ่งเป็นกิจกรรมเร่งด่วนที่จะต้องบรรลุผลให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ครอบคลุม 3 หัวข้อหลัก ดังนี้ 

  1. การลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ 
  2. การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและการแบ่งปันผลประโยชน์จากธรรมชาติ; และ 
  3. เครื่องมือและแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงการผลักดันให้เกิดเป็นกระแสหลักในสังคมและนโยบาย (mainstreaming) 

การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญโดยมีการเรียกร้องให้เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางบกและทางทะเลอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน  

ร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ฉบับปรับปรุงขั้นสุดท้ายจะถูกรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 (CBD COP-15) ระหว่างวันที่ 7 – 19 ธันวาคม 2565 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยคาดว่าก่อนการรับรองดังกล่าวจะมีการปรึกษาหารือโดยพิจารณาจากผลที่ได้จากการประชุมคณะทำงานกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 (OEWG) ที่ได้จัดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง และการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น การประชุมอภิปรายกรอบการติดตามติดตามตรวจสอบ (monitoring framework) ที่จัดขึ้นในกรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 2565 ด้วย

4G6A9758

ในประเทศไทย การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้กลายเป็นประเด็นสำคัญ และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยตกลงที่จะเข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม The High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People ซึ่งกลุ่มองค์กรพันธมิตรดังกล่าวประกอบด้วยสมาชิกกว่า 110 ประเทศที่ความมุ่งมั่นที่จะปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่บนบกและในทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 นอกจากนี้ เราหวังว่าประเทศไทยจะลงนามเห็นชอบตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 ที่จะถึงนี้

ในประเทศไทย การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองมีระบุอยู่ในยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ยังมีอุปสรรคและความท้าทายอยู่หลายประเด็นที่ทำให้กระบวนการประกาศพื้นที่คุ้มครองเกิดความล่าช้า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชน สนับสนุนแนวคิดการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองและการดำเนินงานตามกรอบงานฯ เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่งและระบบนิเวศที่สำคัญ ปัจจุบันมีองค์กรต่าง ๆ ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนงบประมาณในการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ทั่วโลก ซึ่งสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.naturefinance.info จึงขอเรียกร้องให้ประเทศไทยและประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก รับรองกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 อย่างเร่งด่วน เพื่อเริ่มการเปลี่ยนแปลงรากฐานที่สำคัญด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยและในประเทศอื่น ๆ