การเสวนาการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 30 by 30

“เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 30 by 30”
ประเด็นเรื่องการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 30 by 30 เป็นประเด็นค่อนข้างใหม่ซึ่งถูกหยิบยกมาพูดคุยในเวทีเสวนาพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 30 by 30 ในการประชุมวิทยาศาสตร์ทางทะเลครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 5 – 7 กันยายน พ.ศ. 2565 จัดโดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ในการเสวนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย คุณอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อํานวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว

 
การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 เป็นหนึ่งในเป้าหมายระดับโลกของร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 (First Draft of Post-2020 Global Biodiversity Framework) ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกที่จะมีการพูดคุยและได้รับการรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 (COP 15 Part 2) โดยจะจัดขึ้นในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 7 – 19 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งประเทศไทยมีท่าทีที่จะรับรองกรอบงานดังกล่าว


ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลประมาณ 16,514 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 5.1 ของพื้นที่ทางทะเลของไทย และยังมีพื้นที่เตรียมประกาศเป็นพื้นที่ทางทะเลของ ทช. จำนวน 30 พื้นที่ พื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติทางทะเล จำนวน 2 พื้นที่ พื้นที่เตรียมการเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 2 พื้นที่ พื้นที่เตรียมการพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 พื้นที่ และเมื่อรวมกับพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ได้รับการประกาศแล้วจะมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.37

 
เครื่องมือที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นคือ พื้นที่ Other Effective Area-Based Conservation Measures (OECM) ซึ่งตามนิยามของ IUCN แล้วจะหมายถึง “พื้นที่ที่มีการกำหนดทางภูมิศาสตร์นอกเหนือจากพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งมีการควบคุมและจัดการเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์เชิงบวกในระยะยาวอย่างยั่งยืน ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ตามธรรมชาติ หน้าที่และบริการของระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงการอนุรักษ์ความสำคัญทางด้านวัฒนธรรม จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ และค่านิยมท้องถิ่นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” โดยในประเทศไทยยังมีพื้นที่หลายแห่งที่อาจมีศักยภาพในการประกาศให้เป็นพื้นที่ OECMs เช่น พื้นที่คุ้มครองโบราณคดีใต้ทะเล เขตปลอดภัยของสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล เขตปลอดภัยในราชการทหาร เขตทะเลชายฝั่งตามประกาศกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลและชายฝั่ง เขตอนุรักษ์โดยชุมชน เป็นต้น เครื่องมือนี้อาจทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลเพิ่มขึ้น

 
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองเพียงอย่างเดียวไม่อาจก้าวไปสู่เป้าหมายของการอนุรักษ์ได้ หากพื้นที่คุ้มครองเหล่านั้นมิได้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองให้มีประสิทธิภาพ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการปกป้องและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล นอกจากนี้การขยายพื้นที่ให้เป็นเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (MPA network) และการบูรณาการแนวคิดอื่น ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เช่น การวางแผนทางทะเล (marine spatial planning) การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่คุ้มครอง (multiple uses marine protected areas) เป็นต้น เป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของกิจกรรมต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบถึงกัน อันเนื่องจากการติดต่อเชื่อมโยงของทะเลโดยกระแสน้ำและการอพยพย้ายถิ่นของสิ่งมีชีวิตในทะเล

 
ถึงแม้ว่าเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 30 by 30 จะเป็นประเด็นใหม่ และค่อนข้างท้าทายสำหรับประเทศไทย การประสานความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จะทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินงานและขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย 30 by 30 ได้ สิ่งนี้จะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยในการอนุรักษความหลากหลายทางชีวภาพในเวทีโลกอีกด้วย