30 by 30 คืออะไร ?
การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 เป็นหนึ่งในเป้าหมายระดับโลกของร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 (First Draft of Post-2020 Global Biodiversity Framework) ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกที่จะมีการพูดคุยและรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 (COP 15 Part 2) โดยจะจัดขึ้น ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 7 – 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565
วิสัยทัศน์ของร่างกรอบงานดังกล่าวให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 4 ประการ และเป้าหมายย่อยทั้งสิ้น 21 เป้าหมาย ครอบคลุมประเด็นการอนุรักษ์ความหลากหลายของระบบนิเวศ ชนิดพันธ์ุและพันธุกรรม นิเวศบริการ การแบ่งปันผลผลกระโยชน์ และวิธีการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเป้าหมายที่ 3 เป็นการเรียกร้องให้มีการปกป้องและอนุรักษ์มหาสมุทร แผ่นดิน และแหล่งน้ำจืดอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เป้าหมาย 30 by 30 หรือ 30×30”
ณ ปัจจุบัน กว่า 100 ประเทศ ได้แสดงความตั้งใจและเจตนารมย์ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายนี้ เพื่อลดการการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2030 และสนับสนุนเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืน
เกี่ยวกับโครงการ
พื้นที่คุ้มครองทางทะเล (MPA) เป็นเครื่องมือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่สังคมโลกให้ความสำคัญเพื่อปกป้องทรัพยากรดังกล่าวจากผลกระทบที่เกิดกิจกรรมการใช้ประโยชน์ของมนุษย์และมลพิษต่าง ๆ ดังนั้นจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และระบบนิเวศ
โครงการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม เป็นต้น ร่วมกับประเทศในภูมิภาคอื่นทั่วโลก โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนและประสานงานโดยองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ได้แก่ The PEW Charitable Trusts และ Pacific Environment โดยองค์กรนี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทย กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงาน ดำเนินกิจกรรม และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ ข่าวสาร และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
โครงการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030
ประเทศไทยได้มีการประกาศพื้นที่ที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทั้งบนบกและในทะเลเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (habitats) ในปัจจุบันประเทศไทยได้ประกาศมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลทั้งสิ้นประมาณ 101 แห่ง ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 7 ประเภท
อุทยานแห่งชาติทางทะเล
อุทยานแห่งชาติทางทะเลคือพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ประกาศโดยอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไป เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า วิจัยทางวิชาการในเรื่องธรรมชาติวิทยาและนิเวศวิทยา และเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนของประชาชนทั่วไปทั้งในปัจจุบัน และอนาคตอย่างต่อเนื่อง และถาวรตลอดไป (รูป: West of Eden อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน)
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเป็นพื้นที่คุ้มครองที่ถูกประกาศภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นพื้นที่ที่ทางราชการได้กำหนดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า หรือเป็นพื้นที่ที่สัตว์ป่าต้องการใช้ในการดำรงชีวิต เช่น ผสมพันธุ์ วางไข่ อนุบาลตัวอ่อน เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่พักระหว่างการอพยพย้ายถิ่น เป็นต้น (รูป: เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ. ตรัง Photo Credit: เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง)
พื้นที่สงวนชีวมลฑล
พื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นพื้นที่ระบบนิเวศบนบก ทะเลหรือชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยระบบนิเวศดังกล่าวรวมกันที่ได้รับการประกาศจากโครงการมนุษย์และชีวมณฑลขององค์การวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Man and the Biosphere – MAB) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมต่าง ๆ (รูป: พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จ. ระนอง Photo Credit: สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระนอง)
ที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ
ที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลรูปแบบหนึ่ง จัดตั้งขึ้นภายใต้พระกำหนดประมง พ.ศ. 2558 โดยห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ําในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ําตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจําจังหวัด เว้นแต่เป็นการกระทําเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการหรือเพื่อการบํารุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ํา และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (รูป: ที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำแหลมพันวา จ.ภูเก็ต)
พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความคัญระหว่างประเทศ
พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศเป็นพื้นที่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหายากหรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ซึ่งพบในเขตชีวภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม มีความสำคัญระหว่างประเทศสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (รูป: พื้นที่ชุ่มน้ำปากน้ำกระบี่ จ. กระบี่)
พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่คุ้มครองรูปแบบใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อพื้นที่สิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญ เช่น พื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ระบบนิเวศที่มีความสำคัญ รวมถึงพื้นที่ที่มีสภาพปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมรุนแรง (รูป: พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเกาะเต่า จ. สุราษฎร์ธานี)
พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นพื้นที่ถูกกำหนดอาสัยอำนาจภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 20 เพื่อประโยชน์ในการสงวน การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่มิใช่พื้นที่ป่าชายเลน ให้คงสภาพธรรมชาติและมีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ ห้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอํานาจออกกฎกระทรวงกําหนดให้พื้นที่ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1) พื้นที่ที่มีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์อันสมควรสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพทางธรรมชาติเดิม 2) พื้นที่ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชตามสภาพทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ และ 3) พื้นที่ที่มีความสําคัญด้านระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอันควรแก่การอนุรักษ์ (รูป: พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกาะโลซิน จ. ปัตตานี)
สถานะพื้นที่คุ้มครองทางทะเล
*ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ก.ย. 2565)
OECMs หมายถึง พื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่คุ้มครอง ซึ่งมีการควบคุมและบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ตามธรรมชาติ หน้าที่และบริการของระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงการอนุรักษ์ความสำคัญทางด้านวัฒนธรรม จิตวิญญาณ สังคมและเศรษฐกิจ และค่านิยมท้องถิ่นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระยะยาว
OECMs เป็นเครื่องมือหนึ่งที่กำลังถูกนำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 30 by 30 โดยทั่วไป OECMs แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1) พื้นที่การอนุรักษ์หลัก (Primary conservation) เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญและอาจถูกประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองตามเกณฑ์ของ IUCN ในอนาคต
2) พื้นที่อนุรักษ์รอง (Secondary conservation) เป็นพื้นที่ซึ่งกำหนดให้การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นวัตถุประสงค์รอง และ
3) พื้นที่อนุรักษ์เสริม (Ancillary conservation) มิได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มีการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์หรือการบริหารจัดการ/กฎเกณฑ์ก่อให้เกิดผลด้านการอนุรักษ์ เช่น พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซากเรือจม พื้นที่ปลอดภัยของแท่นขุดเจาะน้ำมัน พื้นที่หวงห้ามทางการทหาร พื้นที่อนุรักษ์ของชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น